PETEPITTAWAT.DEV

REVIEW: Home Sapiens/Homo Deus/21 Lessons for 21st Century มหากาพย์การเดินทางของมนุษย์

Cover Image for REVIEW: Home Sapiens/Homo Deus/21 Lessons for 21st Century มหากาพย์การเดินทางของมนุษย์
Pittawat Taveekitworachai
Pittawat Taveekitworachai

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Yuval Noah Harari เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีวิสัยทัศน์และนำเสนอแนวคิดออกมาได้อย่างหน้าติดตามผ่านตัวหนังสือ ดังจะเห็นได้จากหนังสือของเขาทั้งสามเล่ม ชายคนนี้ได้พาเราเดินทางผ่านห้วงเลาอันยาวนานตั้งแต่รุ่งอรุณแรงสุดของมวลมนุษยชาติไปจนถึงอนาคตอันใกล้ และไกลผ่านเรื่องราวต่าง ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ที่ผสมผสานแง่มุมทางประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ศาสนา และชีววิทยาได้อย่างลงตัว

คุณ Harari ได้เริ่มต้นการเดินทางครั้งด้วยหนังสือที่ชื่อว่า Homo Sapiens เพื่อพาเราย้อนกลับไปยังต้นกำเนิดว่าเผ่าพันธุ์ ๆ หนึ่ง สามารถก้าวขึ้นมาเป็นเผ่าพันธุ์ที่ปกครองโลกใบนี้ (อย่างน้อยก็ในความเชื่อของพวกเรา) ได้อย่างไร โดยการออกเดินทางที่อธิบายทั้งเหตุผลทางชีววิทยา รวมทั้งการคาดการณ์ความเป็นไปได้บนพื้นฐานขององค์ความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อค่อย ๆ ตอบคำถาม และพาเราเดินไปทีละก้าวจนมาถึงพวกเราในทุกวันนี้ หลาย ๆ คนอาจคิดว่านี่เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่น่าเบื่อ แถมรูปลักษณ์ของเล่มก็ให้เสียด้วย (ด้วยความหนามากกว่า 500 หน้า ที่มาพร้อมน้ำหนัก) ถึงอย่างไรก็ตามเราต้องยอมรับว่าสไตล์การเขียนของคุณ Harari นั้น งดงาม และน่าติดตามเฉกเช่นวรรณกรรมชั้นเยี่ยมเรื่องอื่น ๆ แม้เนื้อหาจะค่อนข้างหนัก แต่ก็ไม่ได้ทับถมกันมาในคราวเดียว ทว่าค่อย ๆ สร้างพื้นฐานความรู้ที่จำเป็นให้กับเราและค่อย ๆ ต่อยอดไปเรื่อย ๆ หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ เชื่อเหลือเกินว่ามุมมองที่มีต่อโลกใบนี้จะเปลี่ยนไป และพาเราไปได้ไกลกว่าเดิม

Dirty Hands

มาถึงเล่มที่สองตามลำดับการตีพิมพ์ แต่เป็นเล่มสุดท้ายที่ได้รับการแปลไทยอย่าง Homo Deus ที่พาเรามองจากปัจจุบันไปยังอนาคตได้อย่างน่าสนใจ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีได้รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว เรากำลังอยู่ในยุคที่อัตราเร็วในการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราได้ยินคำศัพท์ใหม่ ๆ มากมายที่บางครั้งก็ชวนให้เราหวาดกลัว เช่น AI ที่สื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะภาพยนตร์มักแสดงให้เห็นถึงแนวคิดบางอย่างที่มักจะจบลงที่การกำจัดมนุษย์เสมอ ข้อมูลได้กลายมาเป็นขุมทรัพย์ใหม่ เพราะข้อมูลเปรียบได้กับอาหารของเหล่า AI ที่ใช้พัฒนาตนเอง และมนุษย์เราก็รักที่จะสร้างข้อมูลเหลือเกิน เช่น การเขียนบทความนี้ขึ้นมา นั่นยังไม่พอ เพราะเทคโนโลยีทางชีวภาพก็ดีขึ้นมากเช่นกัน หลายปีให้หลังมานี้เรามักพบกับข่าวการตัดต่อพันธุกรรมที่รุดหน้าไปมาก จนถึงขั้นที่อาจสามารถสร้างมนุษย์กลายพันธุ์ขึ้นมาได้ เช่น ถ้าเรามีเทคโนโลยีที่สามารถวิเคราะห์ลูกของเราได้ตั้งแต่ยังไม่คลอดว่ามียีนส์ที่อาจทำให้เขาป่วยเป็นโรคเรื้อรังไปตลอดชีวิตได้ และเราเองก็มีเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการกำจัดหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของยีนส์นั้นไปและทำให้เขาหายได้ เราจะทำหรือไม่ ด้วยการรวมกันของเทคโนโลยีทั้งสองอย่างนี้ ไม่แน่ว่ามนุษย์เราอาจจะกลายเป็นพระเจ้า (ที่หมายถึงสิ่งเหนือชีวิตที่ทรงพลานุภาพ) ก็เป็นได้ เพราะความตาย ซึ่งเราถูกพร่ำสอนมาว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตามศาสนาต่าง ๆ อาจกลายร่างไปเป็นเพียงปัญหาทางเทคนิคที่รอการแก้ไขเท่านั้น และด้วยเทคโนโลยีเดียวกันนี้เอง เราอาจนำมันมาเพิ่มความสามารถต่าง ๆ เช่น ตาที่มองเห็นได้ในเวลากลางคืน, แขนที่ยกน้ำหนักมาก ๆ ได้ หรือบางที่เราอาจจะไม่รู้เลยก็เป็นได้ว่าอะไรรออยู่ข้างหน้ากันแน่ ซึ่ง Homo Deus ก็นำเสนอแนวความคิดอบบหนึ่งเท่านั้น ไม่ว่ามันจะดูน่ากลัวสักเพียงใด แต่เราก็ควรจะต้องเริ่มที่จะคิดถึงมัน

Shibuya Nights.

เล่มล่าสุด 21 Lessons for 21st Century พาเรากลับมายังปัจจุบัน ด้วยการนำประเด็นที่น่าสนใจ 21 ประเด็นซึ่งกำลังเป็นที่จับตามองอยู่มาวิเคราะห์ทีละประเด็น เพื่อให้เราตระหนักและรับรู้ถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นด้วยความสัตย์จริง และเผชิญหน้ากับมันไม่หลบเลี่ยงไปเรื่อย ๆ เช่นที่เป็นมา ในเล่มนี้นั้นความรู้สึกในการอ่านอาจจะแตกต่างจากสองเล่มก่อนหน้าไปบ้าง เพราะไม่ได้เป็นแนวเรื่องเล่าแล้ว แต่ด้วยลักษณะการเขียนก็ยังชวนติดตามอยู่ดี และยิ่งมีความน่าอ่านขึ้นไปอีก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัจจุบันที่เราควรจะต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง ก่อนที่จะสายเกินไปจนอาจไม่เหลืออะไรให้แก้ไขแล้วก็เป็นได้

Hiking In The Country

และนั่นก็คือทั้งสามเล่มที่ควรค่าแก่การอ่านสักครั้งในชีวิต เพราะมันเป็นการเดินทางที่น่าติดตาม ปนไปทั้งเรื่องรางที่น่าทึ่ง น่ากลัว หรือมีความหวังตลอดทั้งการเดินทาง คุณจะไม่อยากวางมันลงเลยทีเดียว และเมื่อมันจบลงสายตาที่เราเคยมองโลกใบนี้ก็อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป


📚 Hope you enjoy reading! 📚